ในวันพุธที่ 12 มกราคม 2565 เวลา 13.30-15.30 น. ที่ผ่านมา พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เป็นประธานในพิธีรับโล่พระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี รางวัลวรรณกรรม “วรรณศิลป์อุชเชนี” ครั้งที่ 5 ในหัวข้อ “หนึ่งชีวิตคำนึง” ณ ห้องอโนมาแกรนด์ ชั้น 3 โรงแรมอโนมาแกรนด์ ถนนราชดำริ กรุงเทพมหานคร
จัดโดยสื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย ร่วมกับสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย คณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย โดยมีคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการประกวดวรรณกรรมรางวัล “วรรณศิลป์อุชเชนี” และประธานจัดงาน เพื่อรำลึกถึงผลงานอันทรงคุณค่า ของอาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2536 ที่สร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้รักงานวรรณศิลป์ และส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน การเขียนภาษาไทย และเพื่อเปิดเวทีให้แก่ผู้สนใจทั่วไป โดยเฉพาะเยาวชน ในการพัฒนาทักษะด้านการเขียนในเชิงคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น เพื่อร่วมกันสืบสานมรดกอันล้ำค่าด้านภาษาไทย มีคุณศศิเลิศ สุวังคำ ผู้อำนวยการกลุ่มศิลปกรรม กองส่งเสริมและถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี, อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, อาจารย์ชมัยภร แสงกระจ่าง, พ.ต.ปานสรวง ชุมสาย ณ อยุธยา, คุณพ่ออนุชา ไชยเดช, คุณพ่อเอกรัตน์ หอมประทุม, คุณพิบูลศักดิ์ ละครพล, เซอร์มารี หลุยส์ พรฤกษ์งาม, คุณวันทนีย์ นามะสนธิ และคณะกรรมการ ร่วมงาน
ผู้ชนะเลิศจะได้รับรางวัลโล่พระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพ
รัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยเกียรติบัตร และเงิน 30,000 บาท ส่วนรางวัล
รองชนะเลิศ ได้รับเกียรติบัตร และเงิน 10,000 บาท โดยคัดสรรพิจารณาผลงานที่มีเนื้อหาและลักษณะตามเกณฑ์ที่กำหนด จากผลงานเขียนที่ส่งเข้าประกวดทั่วประเทศ เพื่อพิจารณาตัดสินมอบรางวัลแก่นักเขียนที่มีคุณภาพดี โดยแบ่งงานเขียนเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทกลอนสุภาพ ระดับนักเรียนและระดับประชาชน ประเภทความเรียง ระดับนักเรียนและระดับประชาชน
คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กล่าวรายงานการจัดงานผ่านทางเสียง ความว่า “รางวัลวรรณศิลป์
อุชเชนี ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดเวทีให้แก่ผู้สนใจทั่วไป โดยเฉพาะเยาวชนในการพัฒนาทักษะด้านการเขียนในเชิงคุณภาพให้ดียิ่งขึ้นเพื่อร่วมกันสืบสานมรดกอันล้ำค่าด้านภาษาไทยและเพื่อรำลึกถึงผลงานอันทรงคุณค่าของอุชเชนี ซึ่งเป็นนามปากกาของท่านอาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์กวีนิพนธ์ พ.ศ. 2536 โดยในปีนี้มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 807 ผลงาน จากทั่วประเทศ เป็นกลอนสุภาพ 385 ผลงาน และความเรียง 422 ผลงาน”
พลอากาศเอก ชลิต เปิดกรวยดอกไม้และกล่าวเปิดงาน ว่ารู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานในพิธีรับโล่พระราชทานรางวัลวรรณศิลป์อุชเชนี ครั้งที่ 5 “อุชเชนีหรืออาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยาเป็นเพชรเม็ดงามในแวดวงวรรณศิลป์ของแผ่นดินไทย อุชเชนีดำเนินชีวิตด้วยปรีชาญาณ ความรัก ความศรัทธา ส่งผลให้งานของท่านเสริมสร้างอุดมการณ์ที่ดีงาม ให้แรงบันดาลใจแก่เพื่อนมนุษย์ซึ่งสามารถนำไปปฏิบัติตนได้อย่างเรียบง่าย เปี่ยมไปด้วยความสุขและคุณค่าแห่งชีวิต ต้องขอขอบคุณผู้จัดงานที่ได้ร่วมกันดำเนินโครงการด้วยอุดมการณ์อย่างต่อเนื่อง”
อาจารย์เนาวรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2536 ประธานกรรมการประเภทกลอนสุภาพ กล่าวสรุปภาพรวมการประกวดว่าในปีนี้มีผลงานที่เข้มข้นอาจจะเป็นเพราะโควิดทำให้มีเวลานั่งคิดนานขึ้น ที่จริงแล้วหัวข้อตลอดมาทั้ง 5 ปีนั้นมีความสำคัญเพราะเกี่ยวเนื่องกับผลงานของอาจารย์ประคิณหรืออุชเชนี กวีของกวีที่เรารักใช้คำว่ากวีของกวีเพราะหลายท่านที่รักการเขียนกาพย์กลอนต้องยอมรับว่างานของ อุชเชนีมีอิทธิพลมาก ๆ ปีนี้ก็เช่นกัน และคิดว่าจะมีทุกๆ ปี เพราะว่างานของอุชเชนีเป็นงานอมตะ เป็นหมุดหมายของกวี เส้นทางกวีไทยตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบันและในอนาคต
ปีนี้บทกลอนสุภาพระดับนักเรียนและประชาชนที่ส่งเข้ามามีจำนวนมากถึง 385 สำนวน เป็นระดับนักเรียน 89 สำนวน ระดับประชาชน 296 สำนวน อาจารย์ชมัยภร ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2557 ประธานกรรมการประเภทความเรียง กล่าวสรุปภาพรวมการประกวดว่า อาจเพราะว่าหัวข้อ “หนึ่งชีวิตคำนึง” เป็นหัวข้อสำหรับการประกวดที่สามารถตีความได้กว้างหรือสามารถโยงเข้าสู่เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ชีวิตได้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมาก เพราะฉะนั้นผลงานที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้จึงมีมิติชีวิตที่ลึกซึ้งกว้างขวางมากและมีความน่าสนใจ ประการแรกคือมีการให้นิยามหรือความหมายของชีวิตเป็นการแสดงในเชิงนามธรรม แสดงความพอดีหรือความไม่พอดีของชีวิต แสดงภาพรวมของชีวิต ในขณะเดียวกันก็ยังมีงานอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจมากคืองานที่แสดงความศรัทธาในศาสนาเพื่อที่จะแก้ปัญหาชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่ง ในปีนี้คุณภาพ ความลึกซึ้ง และความสะท้านสะเทือนใจของงานอยู่ในระดับที่ดีมากๆ เพราะฉะนั้นท่านก็จะได้รับฟังว่าความสะท้านสะเทือนใจของรางวัลอุชเชนีปีนี้เป็นอย่างไร
ปีนี้มีผู้ส่งความเรียงเข้ามาทั้งหมด 422 ชิ้น เป็นนักเรียน 84 ชิ้น ประชาชน 338 ชิ้น
ผลการตัดสิน
ประเภทกลอนสุภาพ ระดับนักเรียน
– รางวัลชนะเลิศ ผลงาน “ในห้วงคำนึง”โดยศรินยานันท์ จันทร์รุ่ง โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ รัชดา
– รางวัลรองชนะเลิศ ผลงาน “ชีวิตของลูกยางนา” โดยวริศ ดาราฉาย โรงเรียนเตรียมอุดม
ศึกษาพัฒนาการ สุวรรณภูมิ และผลงาน “บทคำนึงเหนือภูขยะ” โดยฮีดายะห์ เบ็ญโกบ โรงเรียนสามัคคีอิสลามวิทยา อ.ควนกาหลง จ.สตูล
ประเภทกลอนสุภาพ ระดับประชาชน
– รางวัลชนะเลิศ ผลงาน “ห้วงคำนึงของนักแล่นเรือใบ (ขณะผ่านไปในพิพิธภัณฑ์ร้างกลางชีวิต)” โดยพจนาถ พจนาพิทักษ์
– รางวัลรองชนะเลิศ “กลิ่นเข็มในอกแม่” โดยวิศิษฐ์ ปรียานนท์ และผลงาน “แม่น้ำแห่งชีวิต” โดยจามรี ตันไพฑูรย์ดิถี
ประเภทความเรียง ระดับนักเรียน
– รางวัลชนะเลิศ ผลงาน “คำนึงอันนิรันดร์” โดยฮีดายะห์ เบ็ญโกบ โรงเรียนสามัคคีอิสลามวิทยา อ.ควนกาหลง จ.สตูล
– รางวัลรองชนะเลิศ ผลงาน “ลูกเป็ดขี้เหร่” โดยธนพร โชคศรีเจริญ โรงเรียนอุดมสิทธิศึกษา อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และผลงาน “รถล้อเข็น” โดยแต๋น โรงเรียนอุดมสิทธิศึกษา อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
ประเภทความเรียง ระดับประชาชน
– รางวัลชนะเลิศ ผลงาน “เด็กชายผู้หยุดความสูงไว้ที่ระดับหัวใจ” โดยศรัทธา สถาพร
– รางวัลรองชนะเลิศ ผลงาน “14 วัน 3 ปี ตลอดไป” โดยกิตติศักดิ์ คงคา และผลงาน “ก่อน
อัลไซเมอร์มาเยือน (ถ้อยคำนึงสุดท้ายของชายอายุแปดสิบ)” โดยพิณพิพัฒน ศรีทวี
เออเชนี ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา หรือ“อุชเชนี” เกิดวันที่ 6 กันยายน 2462 สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ ระดับอุดมศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นได้รับทุนไปศึกษาต่อทางวรรณกรรมที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และกลับมาเป็นอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังเป็นนักประพันธ์ไม่ว่าจะเป็นกวีนิพนธ์ เช่น “ขอบฟ้าขลิบทอง” “ดาวผ่องนภาดิน” ในนามปากกา “อุชเชนี” หรือความเรียงร้อยแก้ว “เพียงแค่เม็ดทราย” ในนามปากกา “นิด นรารักษ์” สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ประกาศเกียรติคุณยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) พร้อมกับอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ในปี พ.ศ. 2536 อาจารย์ประคิณ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2559