ซีพี ออลล์ ประชุมกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนร่วมพัฒนา เฟส 3 เพื่อการเสนอแผนพัฒนาฯ สถานศึกษาที่ยั่งยืน

558

คุณตรีเทพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป ส่วนงานยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม และ CONNEXT ED บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และ ดร.มล.สรสิริ วรวรรณ คณบดี คณะการจัดการการศึกษาเชิงสร้างสรรค์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ นำคณะกรรมการตรวจเยี่ยมโรงเรียนบ้านน้ำย้อย จ.ลำพูน ซึ่งเป็น 1 ใน 9 โรงเรียนร่วมพัฒนาที่อยู่ภายใต้ความดูแลของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และดำเนินการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานร่วมกับตัวแทนจากองค์การบริหารส่วนตำบลนครเจดีย์ และตัวแทนผู้ปกครองโรงเรียนบ้านน้ำย้อย ซึ่งมี School Partner นางสาวนันท์นภัส พิริยะวรโชติ เป็นตัวแทนบริษัทฯ และผู้ประสานความร่วมมือ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดเป้าหมายการเรียนการสอนให้สอดคล้องกันโดยใช้หลักสูตร “การจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning) และนำโครงการต้นแบบอย่างเช่น โครงการไผ่พอเพียงสู่อนาคตที่ยั่งยืน (Bamboo Project) โครงการต้นกล้าไร้ถัง และโครงการชาจากใบไผ่ มาเป็นฐานเพื่อนำไปสู่การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ และเป็นการเตรียมความพร้อมของสถานศึกษาเพื่อเป็นตัวอย่างนำร่องให้กับโรงเรียนอื่น ๆ นับเป็นการเสริมโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาการศึกษาแก่เยาวชนอย่างต่อเนื่อง ตามปณิธานของซีพีออลล์

ในการนี้นายฤกษ์ชัย ใจคำปัน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำย้อย ได้ให้การตอบรับ และมีความเห็นพ้องเกี่ยวกับการบริหารการจัดการเรียนการสอน ซึ่งทางโรงเรียนมีการปรับการบริหาร และรูปแบบการจัดการศึกษาจากเดิม โดยการนำหลักสูตร PBL มาเสริมเป็นฐานสมรรถนะ รวมถึงเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการสอน และการนำแผน Business Model Canvas มาปรับใช้ เพื่อให้การเรียนการสอนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีครูผู้เป็นบุคลากรหลักในการขับเคลื่อนการศึกษาดังกล่าว

การประชุมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นางสาวณภรษา อินทนนท์ ตัวแทนจากองค์การบริหารส่วนตำบลนครเจดีย์ นางสาวกานติมา ปันดิ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และนายกรเอก ใจไว ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการเกษตร ตำบลนครเจดีย์ ได้ให้เกียรติมาร่วมพูดคุยและให้ข้อมูลเรื่องไผ่ของตำบลนครเจดีย์ ซึ่งได้ส่งเสริมการปลูกมาตั้งแต่ปี 2551 เริ่มแรกเป็นการปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ทางการเกษตรเช่น ใช้ค้ำยันต้นลำไย หลังจากนั้น มีโอกาสได้มาร่วมกับโรงเรียนบ้านน้ำย้อยโดยมีครูศราวุธ ขัดเรือน เป็นผู้ขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ และการขยายพันธุ์ไผ่ แต่ยังไม่เป็นที่รู้จัก จนได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ซีพี ออลล์ จึงเกิดโครงการไผ่พอเพียงเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนขึ้นและสามารถขยายผลไปสู่โรงเรียนในโครงการ Connext ED ทั่วประเทศ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ายินดี และขอขอบคุณทางบริษัทฯ ที่เห็นถึงความสำคัญของพืชประจำถิ่น และให้การสนับสนุนผลักดันจนทำให้มีเครือข่ายไผ่พอเพียงฯ อีกทั้งยังสามารถสร้างอาชีพให้แก่เยาวชนและคนในท้องถิ่นได้อย่างดียิ่ง