“ซีพี ออลล์”  ประสานภาคีเครือข่าย สานฝันเยาวชนสู่เส้นทางนักเขียนและนักวาดการ์ตูน เป็นปีที่ 19

4

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) โดยสำนักกิจการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมสร้างเยาวชนสู่เส้นทางนักเขียนและนักวาดการ์ตูน  ประสานความร่วมมือกับ 4 องค์กร จัดโครงการ “ค่ายกล้าวรรณกรรม” และ “ค่าย 7-11 ถอดรหัสนักวาดการ์ตูนในฝัน” สืบเนื่องเป็นปีที่ 19 ภายใต้แนวคิด “นักเขียนรักษ์ป่าเพื่อโลก”

โครงการดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-4  ตุลาคม 2567  ณ บ้านผู้หว่าน อ.สามพราน จ.นครปฐม  สำหรับพิธีเปิดจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 โดยมีคุณวันทนีย์  นามะสนธิ  ที่ปรึกษาสายงานพัฒนาความยั่งยืน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เป็นประธานเปิดงาน พร้อมทั้งมี ผศ.ดร. อัญชลี จันทร์เสม คณบดีคณะมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  คุณนรีภพ จิระโพธิรัตน์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย  คุณศักดา แซ่เอียว อุปนายกสมาคมการ์ตูนไทย และดร.พัชรี  ลินิฐฎา อุปนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดโครงการ

ปี 2567  โครงการค่ายกล้าวรรณกรรมและโครงการค่ายการ์ตูนฯ  ดำเนินการสืบเนื่องเป็นรุ่นที่ 19  ภายใต้แนวคิด นักเขียนรักษ์ป่าเพื่อโลก เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของโลกร้อนที่เข้าสู่จุดวิกฤติมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมี วัธนา บุญยัง นักเขียนสารคดีและนักเขียนแนวพงไพร  เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้และแนวคิดแก่ผู้เข้ารับการอบรมในหัวข้อดังกล่าว

การอบรมครั้งนี้ มีเยาวชนผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการค่ายกล้าวรรณกรรม 48 คน  โครงการค่ายการ์ตูนฯ 47 คน  พร้อมกับมีครูอาจารย์ภาษาไทยผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมการอบรมฐานบันไดกวี 34 คน และครูที่ปรึกษาด้านศิลปะ 2 คน  รวมทั้งสิ้น 131 คน  โดยมุ่งหวังให้เยาวชนและอาจารย์ ร่วมกันนำประสบการณ์ที่ได้รับไปขยายผลในสถานศึกษาของตนต่อไป 

สำหรับพิธีปิดโครงการจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร. อัญชลี จันทร์เสม คณบดีคณะมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  เป็นประธานกล่าวปิดการอบรม

โครงการค่ายกล้าวรรณกรรมและโครงการค่ายการ์ตูนฯ  ได้รับเกียรติจากนักวิชาการ ศิลปินแห่งชาติ  นักเขียนรางวัลซีไรต์ กวีซีไรต์ กวีรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด นักเขียนชื่อดัง  นักวาดการ์ตูนชื่อดัง   ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิแขนงต่าง ๆ  รวม 32  คน มาร่วมกันถ่ายทอดความรู้  ประสบการณ์ ตลอดจนเทคนิคการเขียน การวาดการ์ตูนแก่ผู้เข้าร่วมโครงการอย่างใกล้ชิด  จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับเยาวชนที่จะได้รับการเพิ่มพูนและพัฒนาทักษะทางด้านการเขียน  การวาดการ์ตูน   ส่วนการอบรมฐานบันไดกวีมุ่งเน้นให้ครูอาจารย์ภาษาไทยมีความรู้ความเข้าใจและมีเทคนิคพิเศษในการจัดการเรียนการสอนฉันทลักษณ์ของกวีนิพนธ์ไทย

ในโครงการประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจมากมาย อาทิ 

  • อภิปราย “เติมฝัน ต่อไฟ  ให้รักเขียน” โดย ชมัยภร  แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์, ประชาคม ลุนาชัย ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์, ขวด  เดลินิวส์  ดำเนินรายการโดย พินิจ นิลรัตน์  กวี/ที่ปรึกษาสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย
  • สนทนาพิเศษ “นักเขียนรักป่า สร้างป่า” โดย วัธนา บุญยัง นักเขียนสารคดีและนักเขียนแนวพงไพร, บุหลัน รันตี  นักเขียนสารคดี  ดำเนินรายการโดย ชมัยภร  แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์
  • ปรับพื้นฐานก่อนก้าวขึ้นบันได (ฐานบันไดกวี)  โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์
  • เสวนา “จริยธรรม และลิขสิทธิ์ ในงานสร้างสรรค์ ”  โดย นรีภพ  จิระโพธิรัตน์  นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย,  กนกวลี กันไทยราษฎร์ อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, ณภัทร พรหมพฤกษ์ นายกสมาคม TCAP, คณิต  ศาตะมาน  นายกสมาคมดิจิทัลไทย ดำเนินรายการโดย อาจารย์  ดร. ณประภาพร รุจจนเวท รองคณบดีฝ่ายพัฒนาศักยภาพนิสิตและกิจการพิเศษ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • กลเม็ดที่ 1-7 ในการวาดการ์ตูน จากนักวาดการ์ตูนชั้นนำ
  • ฐานวรรณกรรม 3 ฐาน ประกอบด้วย ฐานกวีนิพนธ์, ฐานเรื่องสั้น  และฐานสารคดี  โดยนักเขียนชื่อดัง